COLUMNIST

ประหยัดพลังงาน : หญ้าปากคอก หรือใกล้ตาแต่ไกลใจ
POSTED ON -


นานๆ จะได้นำเรื่องของการประหยัดพลังงานมาเขียนสักครั้ง เนื่องจากมีผู้สนใจน้อยหากไม่ใช่ภาคอุตสาหกรรมหรือภาคขนส่ง เนื่องจากเป็นต้นทุนหลักของธุรกิจ ซึ่งหลายปีก่อนหน้านี้เรื่องการประหยัดพลังงานเป็นเรื่องภายในองค์กรเท่านั้น แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นธุรกิจใหญ่ไปแล้ว เช่น การที่มีผู้คนเข้ามาเสนอตัวว่าถ้าเขามาช่วยประหยัดพลังงานได้เท่าไหร่ นำเงินส่วนต่างที่ประหยัดได้มาแบ่งกันไหม โดยบางครั้งเราไม่ต้องลงทุนเลย และนี่คือจุดเริ่มต้นของธุรกิจประหยัดพลังงาน

 

การประหยัดพลังงานนั้นนักวิชาการได้ใช้คำน่าฟังหลายๆ คำ เช่น "อนุรักษ์พลังงาน" หรือ "จัดการพลังงาน" ซึ่งบางครั้งก็อาจจะทำให้คนที่ได้ยินสับสน แต่ความหมายสุดท้ายก็ลงที่ "ประหยัดพลังงาน" แล้วท่านทราบหรือไม่ว่า "การประหยัดพลังงาน" กับ "การผลิตพลังงานทดแทน" ต่างกันอย่างไร? ซึ่งคงไม่ค่อยจะมีใครมาเปรียบเทียบให้ท่านอ่านมากนัก

 

การประหยัดพลังงาน (Energy Efficiency) เป็นปฏิบัติการที่ได้ผลทันตาเห็น ท่านประหยัดพลังงานวันนี้ภายในสิ้นเดือนท่านได้เงินทอนค่าไฟฟ้าทันที สมมติว่าองค์กรต่างๆ ช่วยกันประหยัดได้ 1,000 กิโลวัตต์ หรือเรียกง่ายๆ ว่า 1 เมกะวัตต์ นั่นหมายความว่า มีการลดใช้ไฟฟ้าจริงๆ 1 เมกะวัตต์และตลอดไป ไม่ว่าฝนจะตกแดดจะออกหรือไม่ และต้นทุนของการประหยัดทุกหน่วยไฟฟ้าหรือทุกๆ กิโลวัตต์ไม่ถึง 1 บาท

 

การผลิตพลังงานทดแทน (Renewable Energy) เป็นปฏิบัติการเพื่อเสริมความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาว เมื่อโลกขาดแคลนซากดึกดำบรรพ์ (Fossil) มาผลิตพลังงาน ดังนั้น ทุกประเทศจึงยอมจ่ายแพงเพื่ออนาคต และหากท่านลงทุนพลังงานทดแทนวันนี้ เงินหนึ่งบาทแรกที่ท่านได้รับคงอีกประมาณ 3-5 ปี แล้วแต่ชนิดของเชื้อเพลิงพลังงาน ยกเว้นพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์อาจได้ 1 บาทแรกราว 6-12 เดือน นักการเงินจึงใช้พลังงานเซลล์แสงอาทิตย์มาเล่นเกมการเงินปั่นหุ้นจนร่ำรวยไปตามๆ กัน

 

หากตั้งสมมติฐานว่ามีการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ 1 MW (1,000 kWh) ท่านทราบหรือไม่ว่าสามารถขายเข้าสายส่งการไฟฟ้าฯ เพียง 16-17% หรือ 150 kWh หรือเพียง 150 หน่วย เนื่องจากแสงอาทิตย์มีแสงที่สามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้เพียงวันละ 5 ชั่วโมงเท่านั้น แค่นั้นยังไม่พอ หากฝนตกหรือแดดไม่ออก วันนั้นก็ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามเป้าหมาย ต้นทุนค่าไฟฟ้าต่อหน่วยจากเซลล์แสงอาทิตย์จึงไม่น้อยกว่า 5-6 บาทในปัจจุบัน

 

นอกจากนี้ ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ก็ยังจำเป็นต้องสำรองไฟฟ้าไว้ไม่น้อยกว่า 15% ตามมาตรฐานเหมือนเดิม เนื่องจากไม่สามารถพึ่งพาพลังงานที่ไม่แน่นอนเช่นนี้ได้ แต่สำหรับบางเชื้อเพลิงอาจมีประสิทธิภาพสูงกว่านี้ เช่น ชีวมวล ประมาณ 80% พลังงานขยะประมาณ 70% แต่ก็ยังไม่มั่นคง

 

มาประหยัดพลังงานกันดีกว่า... เห็นผลทันตา

 

ปฏิบัติการอันยิ่งใหญ่น่ายกย่องของภาครัฐ รับผิดชอบโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) แต่เหมือนปิดทองหลังพระ เนื่องจากการประหยัดพลังงานไม่สามารถถูกตาต้องใจฝ่ายการเมืองได้ และยังมีกลุ่มที่เห็นว่าใครประหยัดก็ได้ประโยชน์ไป แล้วจะเอาอะไรกันอีก จึงขอนำเสนอภาพรวมเชิงนโยบายของกระทรวงพลังงานด้านการประหยัดพลังงานมาให้เข้าใจแบบง่ายๆ ดังนี้

 

ประเทศไทยรู้และเข้าใจในประโยชน์ของการประหยัดพลังงานมากว่า 20 ปีแล้ว จึงมี พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2535 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมในปี พ.ศ.2550 ถ้าจะประหยัดพลังงานก็จะต้องมองไปที่ 2 พลังงานยิ่งใหญ่ นั่นก็คือ ไฟฟ้าและเชื้อเพลิง และก็ต้องพุ่งเป้าการประหยัดพลังงานไปที่ 2 ลูกค้ารายใหญ่ ผู้ที่ใช้พลังงานมากที่สุดถึง 70% นั่นก็คือ ภาคอุตสาหกรรม 35.80% และภาคขนส่ง 35.80% ส่วนภาคธุรกิจการค้าเพียง 7.72% บ้านและที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ 15.11% และภาคเกษตรกรรมอันยิ่งใหญ่ของประเทศไทยใช้พลังงานเพียง 5.19% ส่วนภาคอื่นๆ อีกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2557 จากสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย)

 

ไฟฟ้า : ภาคอุตสาหกรรมเป็นแชมป์ตลอดกาล ครองสัดส่วนการใช้ 41.75% รองแชมป์ก็คือภาคธุรกิจ 34.34% บ้านหรูและชุมชนแออัดรวมกัน 22.99%

 

เชื้อเพลิง : หมายถึง น้ำมันและก๊าซ และแชมป์แบบมีที่ 1 ไม่มีที่ 2 ก็คือ ภาคขนส่ง ซึ่งเป็นภาคที่ประหยัดพลังงานได้ยากที่สุดและได้ผลน้อยที่สุด มีเชื้อเพลิงเหลวถูกใช้ในภาคอุตสาหกรรมเพียง 16.83% และอีก 83.17% ใช้ในภาคขนส่ง และ 80.29% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในภาคขนส่งเป็นการใช้ในการขนส่งทางบก ส่วนการขนส่งทางอากาศ 16.87% และทางน้ำเพียง 2.84%

 

สำหรับภาครัฐแล้วน่าจะเป็นกุญแจดอกสำคัญในการขับเคลื่อนการประหยัดพลังงาน หรือเรียกให้หรูๆ ว่า "การอนุรักษ์พลังงาน" โดยมีสาระสำคัญของแผนในปี พ.ศ.2558-2579 ดังนี้

 

● ปรับเพิ่มเป้าหมาย EI จากเดิมร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 30

● เน้นการดำเนินงานในทุกภาคส่วนผ่าน 5 กลยุทธ์

● ภาคอุตสาหกรรม : ยกระดับ SEC ของอุตสาหกรรมแต่ละสาขาให้ถึงระดับที่ดีที่สุดของโลก ณ ปี 2556

● ภาคอาคาร : ยกระดับ BEC ให้เป็นระดับ Econ

● ภาคบ้านอยู่อาศัย : เพิ่มสัดส่วนการใช้อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง

● ภาคขนส่ง : ใช้ระบบรางและยกระดับมาตรฐานรถยนต์

● เป้าหมายเพิ่มขึ้นจาก 38,845 ktoe เป็น 57,400 ktoe

 

จากแผนประหยัดพลังงานของประเทศซึ่งดูดีแต่เข้าใจยากสักหน่อย ที่ผ่านๆ มาสามารถประหยัดไฟฟ้าได้ถึง 3,000 MW หรือประมาณ 1 ใน 3 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 1 โรงเลยทีเดียว ช่วยยืดอายุโลกได้อีกระยะหนึ่ง คิดอย่างไรก็คุ้มค่า แต่ถ้าจะถามว่าจะได้ตามแผนไหม ขอตอบเลยว่า "ไม่" เหตุเพราะแผนประหยัดพลังงานกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนเป็นโมเดลเดียวกัน คือ ผู้ปฏิบัติกับผู้กำหนดแผนเป็นคนละคน การวางแผนแต่ละครั้งมีแต่นักวิชาการ แต่ผู้ที่จะต้องทำให้แผนถึงเป้าหมายคือภาคเอกชน ดังนั้น จึงมีการปรับแผนใหม่และยืดเวลาออกไปเรื่อยๆ

 

มาทำธุรกิจประหยัดพลังงานกันเถอะ

 

บางท่านบอกว่าธุรกิจประหยัดพลังงานเป็น "การทำนาบนหลังคน" ใช่หรือไม่? คน Gen Y อาจไม่เข้าใจ ปัจจุบันน่าจะใช้คำว่า "กินหัวคิว" ในกรณีการประหยัดพลังงานนั้นหมายถึงเราช่วยประหยัดพลังงานแล้วได้ผลประโยชน์จากการประหยัดพลังงาน เป็นการทำงานร่วมกัน ธุรกิจประหยัดพลังงานเขาเริ่มต้นกันอย่างไร มีใครเกี่ยวข้องบ้าง ในที่นี้ขอกล่าวถึงกรณีการประหยัดไฟฟ้าก่อน

 

1. ผู้จำหน่ายอุปกรณ์ ตั้งแต่หลอดประหยัดไฟฟ้า โคมไฟกระจายแสง และอุปกรณ์สารพัดที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟหรือประหยัดไฟนั่นเอง อย่ามัวหลงชื่นชมแต่หลอดไฟนำเข้า LED จนลืมเทคโนโลยีดีๆ ของคนไทยไป ธุรกิจนี้มีทั้งเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการใหญ่ๆ รวมทั้งบริษัทข้ามชาติรวมอยู่ในธุรกิจเดียวกัน

 

2. ESCO : Energy Service Company หรือ บริษัทจัดการพลังงาน ผู้ที่จะเข้าสู่ธุรกิจนี้ต้องขึ้นทะเบียนกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยกระทรวงพลังงานได้มีการสนับสนุนทั้งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและด้านอื่นๆ อีกพอสมควร เพื่อให้แผนประหยัดไฟฟ้าถึงเป้าหมาย หากท่านสนใจ ESCO คงต้องเรียนรู้วิธีการแบ่งปันผลประโยชน์ซึ่งมีวิธีคิด 2 แบบ คือ (1) Guaranteed Saving และ (2) Shared Saving สำหรับท่านที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย E-mail : rungruangs@yahoo.com หรือ โทรศัพท์ 0-2345-1529

 

การประหยัดพลังงานไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าหรือน้ำมัน ดูเหมือนทุกคนจะบอกว่าดี แต่การตอบสนองเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป และพยายามเรียกร้องให้ลดราคาพลังงาน ไม่ว่าแนวทางการขึ้นราคาพลังงานเพื่อนำภาษาที่เก็บได้สำรองไว้เป็นกองทุนอนุรักษ์พลังงานจะถูกหรือผิดไม่ทราบได้ แต่วิธีการนี้ประเทศพัฒนาแล้วก็ใช้ทั่วกัน หากท่านที่ได้มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศคงจะทราบดีว่าราคาน้ำมันในประเทศพัฒนาแล้วลิตรละกว่า 70 บาท และนี่คือเหตุผลที่เพื่อนชาวต่างชาติมักพาเราขึ้นรถไฟฟ้าและรถใต้ดิน แล้วประเทศไทยเราจะเลือกเดินทางไหนในฐานะประเทศที่ไม่มีแหล่งพลังงานสำรองเป็นของตนเอง